Chapter 2 : Temperature
เครื่องมือวัดอุณหภูมิ ทางอุตสาหกรรม [ปูพื้นฐานครบ]
ตั้งต้นทำความเข้าใจทุกองค์ประกอบของเครื่องมือวัดอุณหภูมิ
ตั้งต้นทำความเข้าใจทุกองค์ประกอบของเครื่องมือวัดอุณหภูมิ
กว่าจะเป็นระบบการวัดคุมในปัจจุบัน
4 องค์ประกอบสำคัญของการควบคุมอัตโนมัติในโรงงาน
เครื่องมือวัดอุณหภูมิที่ใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรมมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นหลัก เมื่อแบ่งเครื่องมือวัดอุณหภูมิตามหลักการวัด จะแบ่งออกเป็น 4 แบบด้วยกัน คือ
– การใช้ของเหลวบรรจุในหลอดแก้วปิด โดยของเหลวที่ใช้เป็นปรอทหรือแอลกอฮอล์
– หลักการขยายตัวของของเหลว ไอ หรือ ก๊าซเป็นค่าความดัน (Filled Thermal)
– ใช้หลักการแถบโลหะคู่ (Bimetal)
– อาร์ทีดี จะเปลี่ยนแปลงค่าอุณหภูมิเป็นความต้านทาน
– เทอร์โมคัปเปิล จะเปลี่ยนแปลงค่าอุณหภูมิเป็นค่าแรงดันไฟฟ้า
– ออปติคอลไพโรมิเตอร์ อาศัยการเปลี่ยนแปลงของความเข้มของแสง
– ไพโรมิเตอร์แบบอินฟราเรด
– อาศัยหลักการเปลี่ยนแปลงสีของสารเคมีเมื่อได้รับความร้อนหรือหลอมละลาย
/*รูป เทอร์โมมิเตอร์แบบหลอดแก้วปิด
หลักการวัดของเทอร์โมมิเตอร์แบบหลอดแก้วปิด คือ เมื่อของเหลวประเภทปรอท หรือ แอลกอฮอล์ได้รับความร้อนหรือความเย็นแล้ว ของเหลวนั้นจะเกิดการขยายหรือหดตัว โดยเครื่องมือวัดนี้จะบรรจุปรอทหรือแอลกอฮอล์ลงในหลอดแก้วปิด ขณะที่ข้างในหลอดแก้วเป็นสุญญากาศ โดยในหลอดแก้วจะมีขนาดทางเดินเป็นรูเล็กๆ สำหรับให้ของเหลวขยายหรือหดตัวส่วนข้างนอกของหลอดแก้วจะมีแถบสเกลสำหรับอ่านค่าอุณหภูมิ ซึ่งอาจเป็นองศาเซลล์เซียส (°C) หรือ ฟาเรนไฮต์ (°F) โดยวิธีการอ่านค่าสามารถอ่านได้จากการที่ของเหลวขยายตัวหรือหดตัวเป็นความดันที่ขีดต่างๆ ในการใช้งานของเครื่องมือวัดนี้โดยทั่วไปแล้ว ถ้าไม่มีส่วนป้องกันหลอดแก้วจะนิยมใช้ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) แต่ถ้าต้องการนำไปติดตั้งในกระบวนการผลิต (ตามท่อหรือถังที่ต้องการวัดอุณหภูมิ) จำเป็นจะต้องมีส่วนป้องกันการเสียหายต่อหลอดแก้ว (Metal Guard)
/*รูป เทอร์โมมิเตอร์แบบอาศัยการเปลี่ยนแปลงเป็นความดัน (Filled Thermal System)
เครื่องมือวัดอุณหภูมิชนิดนี้ได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในระบบนิวเมติกส์ โดยใช้เป็นตัวแสดงค่าของสัญญาณอุณหภูมิหรือเป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณอุณหภูมิซึ่งเป็นสัญญาณลมมาตรฐานด้วยในตัว ส่วนใหญ่อุปกรณ์ประเภทนี้จะใช้งานในการแสดงค่าเป็นจุดในงานสนาม (Local Instrument) หรือใช้เป็นตัวควบคุมอุณหภูมิ (Temperature Controller) นอกจากนั้น อาจนำไปใช้งานในส่วนที่เป็นพื้นที่ที่อาจเกิดอันตราย (Hazardous Area)
หลักการทำงานของเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบนี้ จะอาศัยหลักการขยายตัวหรือหดตัวของของไหลซึ่งอาจอยู่ในรูปของของเหลว (Liquid) ไอน้ำ (Vapour) หรือ ก๊าซ (Gas) ก็ได้ โดยที่ของไหลจะเกิดการขยายตัวเมื่อได้รับความร้อน แต่ถ้าของไหลได้รับความเย็นจะเกิดการหดตัวซึ่งเหมือนกับหลักการของเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบหลอดแก้วปิดนั้นเอง เมื่อกำหนดให้ของไหลอยู่ในปริมาตรที่จำกัด เมื่อของเไหลมีการขยายตัวหรือหดตัวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงค่าความดันขึ้น โดยค่าความดันที่เปลี่ยนแปลงจะสัมพันธ์กับค่าของอุณหภูมิที่เกิดขึ้น
/*เครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบแถบโลหะคู่ (Bimetal)
เครื่องมือวัดอุณหภูมิชนิดนี้จะมีแถบโลหะคู่ ซึ่งเป็นโลหะ 2 ชนิด ที่มีสัมประสิทธิ์การขยายตัวทางความร้อนไม่เท่ากัน ซึ่งยึดติดกัน เมื่อได้รับความร้อนโลหะทั้งสองชนิดจะขยายตัววไม่เท่ากัน จึงทำให้แถบโลหะโก่งตัว ถ้ายึดปลายด้านหนึ่งไว้แล้ว ปลายอีกด้านหนึ่งจะเบี่ยงเบนไปตามค่าของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง
อาร์ทีดี (Resistor Temperature Detector : RTD) เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานโดยอาศัยการเปลี่ยนค่าความต้านทานของขดลวดโลหะที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนของอุณหภูมิ โครงสร้างของอาร์ทีดี ประกอบด้วยลวดโลหะที่มีความยาวค่าหนึ่งพันอยู่บนแกนที่เป็นฉนวนไฟฟ้าซึ่งมีคุณสมบัติทนต่อความร้อน โดยแกนที่ใช้เป็นสารประเภทเซรามิก หรือ แก้ว เช่น อะลูมินาบริสุทธิ์ สภาพภายนอกของอาร์ทีดีจะดูคล้ายเทอร์โมคัปเปิล
เนื่องจากอาร์ทีดีเป็นอุปกรณ์ประเภทเฉื่อยงาน (Passive Element) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีค่ากำลังที่เอาต์พุตน้อยกว่าอินพุต ดันนั้นการนำเอาอาร์ทีดีไปประยุกต์ใช้งานจำเป็ฯต้องมีอุปกรณ์ส่งสัญญาณหรือทรานสมิตเตอร์ ซึ่งเป็นวงกรที่ใช้ในการแปลงค่าความต้านทาน เป็นสัญญาณแรงดันไฟฟ้ามาตรฐานเพื่อใช้ในการส่งสัญญาณต่อไป (ในปัจจุบันได้มีการนำเอาอาร์ทีดีกับทรานสมิตเตอร์ต่ออยู่ร่วมกันภายในเครื่องมือวัดแล้ว)
หลักการของเทอร์โมคัปเปิล ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1821 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ โธมัส ซีเบ็ค (Thomas Seebeck) ที่พบว่าเมื่อนำลวดโลหะ 2 เส้น ที่ทำด้วยโลหะต่างชนิดกันมาเชื่อมปลายทั้งสองเข้าด้วยกัน ถ้าปลายจุดต่อทั้งสองได้รับอุณหภูมิที่ต่างกันจะทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลในวงจรเส้นลวดทั้งสอง และถ้าเปิดปลายจุดต่อด้านหนึ่งออก จะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าขึ้นที่ปลายด้านเปิด โดยแรงดันไฟฟ้าที่เกิดขึ้นที่ปลายด้านเปิดจะเป็นสัดส่วนกับผลต่างของอุณหภูมิที่จุดต่างทั้งสอง
โครงสร้างของเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบเทอร์โมคัปเปิลมีลักษณะคล้ายกับอาร์ทีดี แต่ต่างกันตรงที่ตัวเซ็นเซอร์ที่ใส่ลงไปใน Bulb นั้นเอง โดยลักษณะการเชื่อมจุดต่อของเทอร์โมคัปเปิลเพื่อให้สภาพของเทอร์โมคัปเปิลเรียบร้อยแข็งแรงพร้อมใช้งาน คู่สายของเทอร์โมคัปเปิลจะต้องประกอบอยู่ภายใน Metal Sheath
ส่ิงสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการใช้งานเทอร์โมคัปเปิลคือ สายต่อสำหรับนำสัญญาณที่ถูกวัดไปใช้งาน จะต้องใช้สายตัวนำที่มีคุณสมบัติเหมือนกับตัวโลหะที่ใช้ทำเทอร์โมคัปเปิล แต่เนื่องจากสายเทอร์โมคัปเปิลดังกล่าวมีราคาแพง ด้วยเหตุนี้ในกรณีที่มีการต่อจุดที่ต้องการวัดในระยะทางไกลๆ จึงจำเป็นต้องใช้สายตัวนำที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสายเทอร์โมคัปเปิลที่เรียกว่า “Extension Wire” ซึ่งจะเป็นสายตัวนำที่มีคุณสมบัติการเกิดแรงดันไฟฟ้าตามอุณหภูมิ (Thermoelectric) เหมือนกับเทอร์โมคัปเปิลในช่วงอุณหภูมิบรรยากาศ และควรเป็นสายหุ้มฉนวนที่มีฉนวนป้องกันสนามแม่เหล็กภายนอกรบกวน เนื่องจาก Extension wire เป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อสนามแม่เหล็กภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดการผิดพลาดของค่าแรงดันที่วัดได้
การวัดอุณหภูมิแบบนี้เป็นการวัดโดยไม่มีการสัมผัสโดยตรงกับวัตถุที่ต้องการวัดค่าอุณหภูมิ เพราะใช้วิธีการวัดโดยอาศัยการแผ่รังสีความร้อนและแสงของวัตถุเพื่อบอกค่าอุณหภูมิของวัตถุแทน ซึ่งเครื่องมือวัดอุณหภูมิที่อาศัยการแผ่รังสีความร้อนและแสงของวัตถุ จะถูกเรียกว่า “ไพโรมิเตอร์ (Pyrometer)” ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดที่มีการวัดคลื่นรังสีที่ตามนุษย์มองเห็น (Optical Pyrometer) และชนิดที่มีการวัดคลื่นรังสีอินฟราเรด (Infrared Pyrometer) โดยปกติความยาวคลื่นของแสงที่ตามนุษย์มองเห็นได้อยู่ในช่วงประมาณ 0.3 μm ถึง 0.7 μm เท่านั้น แต่อินฟราเรดมีความยาวคลื่นสูงกว่าในย่านที่ตามนุษย์มองเห็น โดยอยู่ในช่วง 0.75 μm ถึง 1000 μm ที่ความยาวคลื่นสูงกว่านี้จะเป็นย่าน Radar และ Ultrasonic ตามลำดับ ส่วนความยาวคลื่นที่ต่ำกว่าย่านที่ตาคนมองเห็น (ความถี่สูง) เป็นย่าน Ultraviolet, X-Ray และ Gramma-Ray เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างความยาวคลื่นและความเข้มข้นของการแผ่รังสีที่อุณหภูมิต่างๆ จะขึ้นอยู่กับสภาพผิวของวัตถุด้วย โดยผิวสีดำจะแผ่รังสีออกมาดีที่สุด ในปัจจุบันหลักการวัดอุณหภูมิโดยอาศัยหลักการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเชิงแสงและการแผ่รังสีที่นิยามใช้มากที่สุด คือ ไพโรมิเตอร์ แบบอินฟราเรด ส่วนไพโรมิเตอร์แบบอื่นๆ มีการใช้น้อยมากในการควบคุมกระบวนการทางอุตสาหกรรม
ไพโรมิเตอร์แบบอินฟราเรด เครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบนี้ นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการค่าอุณหภูมิเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการตรวจสอบสภาพเฉพาะจุด เช่น การตรวจสอบความร้อนจากข้อต่อสายไฟ หรือต้องการหาจุด Hot-Spot ที่ตัวหม้อแปลง โดยที่เครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบอื่นไม่สามารถทำได้ เครื่องมือวัดแบบอินฟราเรดจะมีตัวตรวจวัดอุณหภูมิซึ่งเป็นสารประเภทสร้างกึ่งตัวนำที่เรียกว่า “โฟตอน” (Photon) หรือใช้เทอร์มอไพล์เป็นตัวรับคลื่นแสง เมื่อโฟตอนหรือเทอร์มอไพล์ได้รับพลังงานความร้อนที่อยู่ในรูปแบบของการแผ่รังสีความร้อน จะเกิดแรงดันไฟฟ้าขึ้น ทำให้สามารถวัดค่าอุณหภูมิของวัตถุต่างๆ ได้
การวัดอุณหภูมิโดยวิธีการทางเคมี จะอาศัยการเปลี่ยนแปลงสีของสารเคมีเมื่อได้รับความร้อนหรือหลอมละลาย การวัดอุณหภูมิด้วยหลักการนี้จะเป็นที่นิยมใช้เฉพาะแต่ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) หรือใช้การทดสอบชิ้นงานเท่านั้น ซึ่งวิธีการวัดค่าอุณหภูมิโดยวิธีการทางเคมีเป็นวิธีที่เหมาะสมวิธีหนึ่ง เนื่องจากค่าที่วัดได้ถูกต้อง รวดเร็ว ประหยัด สะดวกกว่าวิธีอื่นๆ อีกทั้งผู้ใช้ไม่ต้องมีประสบการณ์มากนัก ก็สามารถทราบค่าการวัดอุณหภูมิได้
ดินสอใช้สำหรับวัดอุณหภูมิที่ผิวของชิ้นงาน ทำได้โดยการขีดเป็นแนวบนชิ้นงาน เมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่แต่ละสีระบุไว้ แนวที่ขีดจะละลาย สามารถเลือกใช้งานเพื่อวัดค่าได้ที่จุดอุณหภูมิต่างๆ ตั้งแต่ 30°C ถึง 1250°C ส่วนวิธีการใช้งานควรระวังผิวของชิ้นงานที่มีผิวงานมีความสกปรก ควรทำความสะอาดก่อนการใช้งาน
แล็กเคอร์ให้สำหรับวัดอุณหภูมิที่ผิวของชิ้นงาน เป็นการใช้งานเคมีทาหรือพ่นบางๆ ลงบนพื้นผิวของชิ้นงาน แล็กเคอร์จะแห้งในเวลาอันรวดเร็ว เมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่ระบุไว้ บริเวณผิวสว่นที่ถูกเคลือบด้วยแล็กเคอร์จะละลายอย่างรวดเร็ว สามารถเลือกใช้งานเพื่อวัดค่าที่มีจุดอุณหภูมิต่างๆ ตั้งแต่ 30°C ถึง 1250°C ส่วนวิธีการใช้งานควรระวังผิวของชิ้นงานที่มีผิวงานมีความสกปรก ควรทำความสะอาดก่อนการใช้งาน คล้ายกับแบบดินสอ
แบบ Pellet เป็นแบบแรกของเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบสารเคมีที่นำมาใช้งานในกระบวนการทางอุตสาหกรรม ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป็นเม็ดยา การบอกค่าอุณหภูมิตามจุดต่างๆ จะใช้ช่วงเวลายาวกว่าสองแบบแรก ดังเช่น ใช้บอกอุณหภูมิตามจุดต่างๆ เพื่อกำหนด Heat Zone ในเตาเผา (Furnace) การใช้งานเมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่ระบุจะเปลี่ยนสี สามารถเลือกใช้งานเพื่อวัดค่าที่อุณหภูมิต่างๆ ตั้งแต่ 30°C ถึง 1800°C
แบบแผ่น จะมีสารเคมีฉาบอยู่บนแผ่นกระดาษเป็นวงๆ พร้อมทั้งระบุจุดอุณหภูมิสำหรับแต่ละวง โดยค่าอุณหภูมิที่ระบุไว้จะมีค่าเดียวกันหรือหลายค่าก็ได้ ด้นหลังจะมีกาวสำหรับใช้ปะลงในที่ๆ ต้องการทราบย่านอุณหภูมิ เมื่อุณหภูมิสูงขึ้นถึงค่าใดที่ได้ระบุไว้ สารเคมีที่ฉาบอยู่ภายในวงนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำ หลังจากทราบค่าแล้ว สามารถเก็บแผ่นกระดาษที่ใช้วัดไว้เป็นข้อมูลการวัดได้ด้วย โดยปกติในแต่ละแผ่นจะมีอยู่หลายจุดอุณหภูมิ โดยเปลี่ยนค่าจุดละ 10°F หรือบางแบบเปลี่ยนค่าจุดละ 25°F สามารถเลือกใช้งานเพื่อวัดค่าที่อุณหภูมิต่างๆ ตั้งแต่ 100°F ถึง 400°F เหมาะสำหรับงานซ่อมบำรุง
หากจะย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มจุดเริ่มต้นของการวัดคุมเลยนั้น ย้อนกลับไปราว 250 ปีก่อน ที่โลกของเราเริ่มเข้าสู่การผลิตสินค้าเชิงอุตสาหกรรม ผลิตที่ละจำนวนมากๆ โดยเป็นการใช้แรงงานคนและกลไกเชิงกลที่ไม่ซับซ้อน แต่แล้วไม่กี่ปีต่อมาก็ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกในการผลิตสินค้าเมื่อ James Watts ได้คิดค้นสร้าง Fly Ball Governor ที่สามารถใช้ควบคุมความเร็วรอบของเครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ เป็นการเข้าสู่ยุคที่เริ่มใช้เครื่องจักรไอน้ำเป็นต้นกำลัง และยังสามารถควบคุมกระบวนผลิตด้วยหลักการ Feedback Control ให้ความเร็วรอบของเครื่องจักรไอน้ำนั้นสัมพันธ์กับกลไกของเครื่องจักรนั้นเอง
เมื่อระบบการผลิตขยายตัว การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์จึงสำคัญ เพระประชากรมีความต้องการใช้สินค้าในปริมาณมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเองก็เร่งขยายตัว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ปัญหาคือการที่จะขยายกำลังการผลิตได้นั้นคือต้องมีการเพิ่มเครื่องจักร ทำให้เริ่มมีการใช้ระบบลม นิวแมติก มาทำงานร่วมกับกลไกทางแมคคานิกส์ด้วย จนระบบควบคุมด้วยสัญญาณลมนิวแมติก ถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานสัญญาณลมที่ใช้ในการควบคุมกระบวนการต่างๆ ในอุตสาหกรรม คือ สัญญาณ 3–15 psi นั้นเอง
เมื่อระบบไฟฟ้าได้ถูกคิดค้นขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งในด้านพลังงานของเครื่องจักรต้นกำลัง เริ่มมีการพัฒนาระบบควบคุมทางไฟฟ้า ด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นำมาใช้งานร่วมกับระบบนิวแมติกส์ จนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่องๆ จึงเริ่มมีการพัฒนาระบบส่งสัญญาณควบคุมทางไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์แบบขึ้น จึงได้มีการกำหนดสัญญาณมาตรฐานทางไฟฟ้ามีใช้ 2 แบบด้วยกันคือ สัญญาณแรงดันไฟฟ้ามาตรฐาน 1–5 Vdc และสัญญาณกระแสไฟฟ้ามาตรฐาน 4–20 mAdc
เมื่อวงจรอิเล็กทรอนิคส์ก็ถูกพัฒนาจนสามารถรองรับกับฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ได้ นั้นก็คือตัว ลอจิกเกต และระบบควบคุมเริ่มสามารถเชื่อมโยงหลายๆลูปเข้าด้วยกันได้ สัญญาณดิจิตอลก็ได้ถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบ สามารถสื่อสารข้อมูลและเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกันได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นระบบควบคุมแบบกระจายส่วน หรือ DCS ที่เรารู้จัก ทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาไปอย่างมาก จึงถูกนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมช่วยให้สามารถทำการวัดและควบคุมทางไกลได้ จนไปถึงสามารถมีระบบการบันทึกจัดเก็บข้อมุลการผลิตและทำรายงานสรุปผลให้กับทางผู้ปฏิบัติงาน หรือฝ่ายบริหารได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยง่าย รูปแบบสัญญาณดิจิตอลนั้น มีหลากหลายรูปแบบสัญญาณ ตามแต่ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องมือวัดและควบคุมออกมา ทำให้ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้หากรูปแบบสัญญาณในการสื่อสารไม่เหมือนกัน จึงมีการกำหนดมาตรฐานของสัญญาณดิจิตอลขึ้น หรือที่เรียกว่า Protocol ที่เราคุ้นเคยและใช้งานในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น HART, MODBUS ,PROFIBUS , FIELDBUS เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า หลายๆสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบการวัดคุมนั้น เกิดจากการถูกพัฒนาต่อยอดจากปัญหาที่เป็นข้อจำกัดในด้านต่างๆ เริ่มต้นตั้งแต่ลดการใช้แรงงานคนเป็นต้นกำลัง โดยการนำเครื่องจักรไอน้ำมาใช้แทน คิดออกแบบกลไกเชิงกลเพื่อผลิตสินค้าที่ซ้ำๆเดิมได้ แต่เมื่อมีการขยายกำลังการผลิตจึงเริ่มหาวิธีในการสื่อสารส่งต่อการสั่งการจากเครื่องจักรหากัน โดยมีตั้งแต่สัญญาณลมนิวเมติกส์ สัญญาณทางไฟฟ้า ไปจนถึงสัญญาณดิจิตอลอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบันนั้นเอง
ในการวัดและควบคุมกระบวนการทางอุตสาหกรรม จำเป็นที่จะต้องรักษาปริมาณทางฟิสิกส์ โดยการวัดค่าจากเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม ได้แก่ค่าจาก เครื่องมืออุณหภูมิ (Temperature) เครื่องมือวัดความดัน (Pressure) อัตราการไหล (Flow) เครื่องมือวัดระดับ (Level) เครื่องมือวัดวิเคราะห์ทางเคมี และอื่นๆ โดยเป้าหมายให้ค่าในกระบวนการนั้นใกล้เคียงกับค่าเป้าหมาย (Set Point : SP) ซึ่งองค์ประกอบหลักๆ ของระบบควบคุมแบบป้อนกลับโดยทั่วไปอาจแบ่งได้ 4 ส่วน ดังนี้
ตัวควบคุม (Controller) เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างสัญญาณควบคุม เพื่อทำหน้าที่ควบคุมให้ระบบหรือกระบวนการที่ต้องการควบคุมมีผลตอบสนองหรือสัญญาณเอาต์พุต (Output) เป็นไปตามที่ต้องการ โดยตัวควบคุมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีหลายแบบด้วยกันแต่ที่นิยมใช้กันมากที่จุดคือ ตัวควบคุมแบบ PID
อุปกรณ์ควบคุมตัวสุดท้าย (Final Control Element) คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ปรับสภาวะของกระบวนการด้วยการเปลี่ยนแปลงค่าตัวแปรปรับกระบวนการ (Manipulated Variable : MV) ตามคำสั่งหรือสัญญาณควบคุมที่ได้รับจากตัวควบคุม อุปกรณ์ควบคุมตัวสุดท้ายมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ดังเช่น วาล์วควบคุม (Control Vavle) อินเวอร์เตอร์ (Inverter) และตัวแอกชิวเอเตอร์ (Actuator) เป็นต้น แต่ที่มักพบเห้นกันมากในอุตสาหกรรมได้แก่ วาล์วควบคุม (Control Valve)
พลานต์หรือกระบวนการ (Plant or Process) หมายถึง ระบบหรือกระบวนการทางฟิสิกส์ที่ต้องการควบคุมให้มีสถานะเป็นไปตามต้องการ เช่น กระบวนการเกี่ยวกับการควบคุมระดับของของเหลว หรือ กระบวนการเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น โดยสถานะของกระบวนการสามารถแสดงได้ด้วยตัวแปรกระบวนการ (Process Variable : PV)
เครื่องมือวัด (Measuring Instrument) หมายถึง อุปกรณ์จำพวกเซ็นเซอร์ (Sensor) ทรานสดิวเซอร์ (Transducer) อุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Transmitter) หรือเครื่องมือวัดสัญญาณอื่นๆ ในกระบวนการ เพื่อนำสัญญาณที่วัดได้ไปใช้เป็นตัวแปรในการควบคุม โดยสัญญาณเอาต์พุตของเครื่องมือวัดโดยทั่วไปจะเป็นสัญญาณมาตรฐานทางอุตสาหกรรม เช่น สัญญาณแรงดันไฟฟ้า 1 – 5 Vdc สัญญาณกระแสไฟฟ้า 4 – 20 mAdc สัญญาณลมขนาด 3 – 15 psig หรือสัญญาณดิจิตอล (ที่เริ่มมีการใช้งานในปัจจุบัน) เช่น Foundation Fielbus , PROFIBUS , หรือ DEVICENET เป็นต้น
การควบคุมกระบวนการของร่างกายคนคนเรา
เพื่อให้เข้าใจง่าย เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพของกระบวนการตัดสินใจของสมองของเราต่อกระบวนการ จำเป็นจะต้องแยกส่วนต่างๆของร่างกายซึ่งเป็นทั้งหน่วยรับข้อมูล (Input) และตัวส่งกระทำต่อกระบวนการ (Output) ดังตัวอย่างในภาพ เป็นกระบวนการที่เราต้องการรักษาระดับน้ำภายในถัง เรามาดูหน้าที่ของแต่ละส่วนกันนะครับ
สิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆโดยปกติคนเราสามารถรักษาระดับน้ำได้โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่ทำอยู่นี้ก็คือการควบคุมกระบวนการ เรามาลองเปลี่ยนอวัยวะของร่างกายเราเป็นอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมกันบ้างว่าจะเป็นอย่างไร
จะเห็นได้ว่า การควบคุมกระบวนการ (Process Control) ของมันสมองของเรากับตัวคอนโทรลเลอร์ มีเงื่อนไขในการตัดสินใจคล้ายๆกัน สิ่งที่เรากำหนดในขั้นแรกคือค่าที่เราต้องการหรือเป้าหมาย (Set Point) จากนั้นก็นำค่าที่วัดได้จากเครื่องมือวัดมาเปรียบเทียบก่อนจะตัดสินใจไปยังอุปกรณ์ตัวสุดท้าย (Final Element) นั้นเองครับ
เครื่องมือวัดอุตสาหกรรม เป็นอุปกรณ์ที่มีการติดตั้งใช้งานเพื่อการวัดและควบคุมกระบวนการในโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ปฏิบัติงานทางด้านเครื่องมือวัดจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความหมายของคำที่ใช้ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เสียก่อน โดยทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องมือวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐ (Scientific Apparatus Makers of America : SAMA) ได้ให้คำจำกัดความที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนี้
ถึงแมัในปัจจุบันเริ่มมีการใช้งานของรูปแบบสัญญาณแบบดิจิตอลกันบ้างแล้ว แต่การกำหนดความหมายในรูปแบบของสัญญาณอนาล็อกก็ยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ อุปกรณ์ตัวชี้บอกค่า (indicator) ตัวบันทึกสัญญาณ (Recorder) หรือรูปแบบการส่งสัญญาณ (Transmitter) ซึ่งจะทำให้ทราบค่าแน่นอนของสิ่งที่ทำการวัดอยู่ โดยมีสิ่งสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ
– ตัวแปรในการวัด (Measured Variable) เป็นการวัดตัวแปรทางฟิสิกส์ คุณสมบัติ หรือ เงื่อนไขในการวัด ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิ ความดัน อัตราการไหล ระดับ ความเร็ว เป็นต้น
– สัญญาณค่าการวัด (measured Signal) เป็นค่าสัญญาณที่ได้จากการวัด อาจเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า ลม หรือแมคคานิกส์ (เชิงกล)
จะมีอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Transmitter) คอยทำหน้าในการแปลงสัญญาณจากเครื่องมือวัดที่เป็นอุปกรณ์ทางด้าน Primary Element ได้ค่าสัญญาณออกมาเป็น Measured Signal ซึ่งถ้าจะนำไปใช้งานจริงในระบบควบคุมจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ทางด้าน Secondary Element มาแปลงสัญญาณที่ได้จากอุปกรณ์ Primary Element อีกทีหนึ่ง เพื่อให้ได้เป็นสัญญาณมาตรฐาน ในการนำไปใช้งานสำหรับการควบคุม เช่น 1 – 5 Vdc , 4 – 20 mAdc หรือสัญญาณดิจิตอล เป็นต้น
ระบบการสื่อสารเพื่อส่งสัญญาณทางเครื่องมือวัด ไม่ว่าจะเป็นการรับสัญญาณหรือส่งสัญญาณออกไป ให้ทำการมองไปที่ตัวอุปกรณ์ เช่นอุปกรณ์นั้นคือเครื่องมือวัด
– สัญญาณอินพุต (Input Signal) หมายถึง สัญญาณที่เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องมือวัด (Deveice , Element, System) เช่น การต่อท่อความดันที่ต้องการวัดเข้ากับอุปกรณ์ส่งสัญญาณความดัน (Pressure Transmitter) หรือ การต่อเซ็นเซอร์ RTD เข้ากับอุปกรณ์ส่งสัญญาณอุณหภูมิ (Temperature Transmitter) เป็นต้น
– สัญญาณเอาต์พุต (Output Signal) หมายถึง สัญญาณที่ถูกส่งออกจากเครื่องมือวัด เช่นสัญญาณมาตรฐาน 1 – 5 Vdc หรือ 4 – 20 mAdc และสัญญาณดิจิตอลของอุปกรณ์ส่งสัญญาณความดัน เป็นต้น
เครื่องมือวัดทุกชนิดที่นำมาใช้งาน เพื่อวัดค่าปริมาณทางฟิสิกส์นั้นจะมีย่านการวัด (Range) กำกับอยู่ทุกตัว เพื่อทราบขอบเขตของช่วงการวัดของเครื่องมือวัดนั้นเอง เรามาทำความเข้าในย่านการวัด และคำนิยามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
นิยามต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอ่านค่า (Readability Terms) เป็นการแสดงค่าจากการชี้บอกค่าของตัว Indicator หรือปากกาชี้วัดค่า (Pen Travel) โดยที่เข็มปากกาจะเคลื่อนที่ไปตามความยาวของแผ่นสเกล หรือแผ่นกระดาษบันทึกค่า ส่วนการอ่านค่าก็ต้องดูตรงจุดที่เข็มชี้หยุดบนแผ่นสเกล หรือรอยหมึกบนกระดาษบันทึกค่า หรืออ่านค่าจากตัวเลขดิจิตอล โดยทั้งหมดนี้จะต้องคำนึกถึงข้อกำหนดดังนี้
ค่าความจำแนกชัด (Resolution) เป็นการบอกค่าความละเอียดในการแสดงค่า ยกตัวอย่างเช่น ไม้บรรทัดความยาว 10 cm และในแต่ละช่องของ 1 cm จะแบ่งขีดไว้เป็น 10 ช่องเล็ก นั้นหมายถึง ค่าความละเอียดในการแสดงค่าของไม้บรรทัดนี้คือ 1 mm (1 cm เท่ากับ 10 mm)
ค่าความไว (Sensitivity) เป็นการเปลี่ยนแปลงของผลตอบสนองของเครื่องมือวัดหารด้วยการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเร้าที่สมนัยกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความไวในการตรวจจับสัญญาณของเครื่องมือวัด ตัวอย่างเช่น ความไวของตัวเซ็นเซอร์เทอร์โมคับเปิลแบบชนิด K มีความไวเป็น 0.01 mA/ํC หรือตัววัดแบบสเตรนเกจมีความไวเป็น 0.02 mV / 1mbar เป็นต้น
ในการใช้งานเครื่องมือวัดจำเป็นต้องคำนึงถึงความแม่นยำของเครื่องมือวัด ความผิดพลาด ความเที่ยงตรง ความทวนซ้ำได้ ความเป็นเชิงเส้น คำอื่นๆที่เกี่ยวกับเครื่องมือวัด เพื่อให้เข้าใจความหมายและการอ่านทำความเข้าใจคู่มือในเครื่องมือวัดต่างๆ
ความแตกต่างของ ความเที่ยงตรง (Accuracy) และ ความแม่นยำ (Precision)
รูป ความแตกต่างของ Accuracy และ Precision
คำที่ได้ยินกันบ่อยเครื่องเกี่ยวกับเครื่องมือวัดคือ ความเที่ยงตรง (Accuracy) และ ความแม่นยำ (Precision) ดังรูปแสดงความแตกต่างระหว่าง Accuracy และ Precision โดยกำหนดให้ จุดกึ่งกลางแทนค่าจริง (True Value) เส้นวงกลมวงใน(เส้นประ) แทนช่วงที่ยอมรับได้ และเครื่องหมาย x แทนค่าที่ได้จากการแสดงค่าของเครื่องมือวัด เมื่อทำการวัดซ้ำค่าเดิม จำนวน 5 ครั้งที่สืบเนื่องกัน โดยวัดตามเงื่อนไขเดียวกันทั้งหมด ดังนี้ ระเบียบวิธีการวัดเดียวกัน ผู้วัดเดียวกัน เครื่องมือวัดเดียวกัน สถานที่เดียวกัน ภาวะการวัดเดียวกัน และการทวนซ้ำไม่ทิ้งช่วงเวลามากนัก
ความแม่นยำ (Accuracy) เป็นความสามารถของเครื่องมือวัดที่จะให้ค่าชี้บอก (indication) ใกล้เคียงกับค่าจริง (True Value) ของปริมาณที่วัด โดยทั่วไปจะมีการระบุ Accuracy Class ของเครื่องมือวัด ซึ่งมีลักษณะเป็นไปตามข้อกำหนดทางมาตรวิทยา เพื่อบ่งบอกว่า เครื่องมือวัดมีความผลิดพลาดอยู่ภายในขีดจำกัดที่บ่งไว้ โดยเกิดคลาดเคลื่อนไปทางบวก หรือลบได้เท่าไหร่ ซึ่งสามารถระบุได้หลาย ๆ รูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งาน
ความเที่ยงตรง (Precision) ค่าความเที่ยงตรงเป็นการบ่งบอกถึงความสามาถในการวัดซ้ำค่าเดิม หรือความทวนซ้ำได้ของเครื่องมือวัด (Repeatability) โดยค่า Repeatability อาจคำนวณได้จากค่าสัมบูรณ์ของค่าเบี่ยงเบนสูงสุด (Maximum Absolute Deviation) ที่เกิดขึ้นเมื่อทำการวัดซ้ำค่าเดิมหลายๆ ครั้งด้วยเงื่อนไขเดียวกัน โดยที่ค่าความเบี่ยงเบนของการวัดแต่ละครั้ง (Deviation) เป็นผลต่างระหว่างค่าที่ได้จากการแสดงค่าของเครื่องมือวัดในการวัดครั้งนั้น (Indication) กับค่าเฉลี่ยของค่าที่ได้จากการแสดงค่าของเครื่องมือวัด (Mean Output) นั้นคือ
[ Deviation = Indication – Mean Output ] >> สมการความเบี่ยงเบน
ค่าความผิดพลาดของค่าชี้บอก (Error of Indication) ค่าความผิดพลาดของค่าชี้บอกของเครื่องมือวัด เป็นค่าผลต่างระหว่างค่าที่ได้จากการชี้บอกของเครื่องมือวัด (indication) กับค่าจริง (True Value) นั้นคือ
Measured Signal Error = Indication – True Value
โดยทั่วไปจะมีการใช้ 3 ค่านี้สำหรับการพิจารณา Point Error ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นการแสดงค่าความผิดพลาดในบางจุดของย่านการใช้งานของเครื่องมือว้ด ซึ่งได้จากการทดสอบ แล้วทำรายงานผลออกมาในรูปแบบตัวเลขหรือกราฟ
Zero Error เป็นการแสดงค่าความผิดพลาดของเครื่องมือวัดที่จุด Zero (ค่าต่ำสุดที่วัดได้) ไปตลอดย่านวัด
Span Error เป็นการแสดงค่าความผิดพลาดของเครื่องมือวัดที่พิจารณาไปตลอดทั้งย่านการวัด (คล้าย Gain Error ของวงจรยายสัญญาณ)
Linearity ค่าความเป็นเชิงเส้นนี้จะเกิดอยู่ระหว่างเส้นทางอุดมคติ (Ideal) กับค่าที่วัดได้จริง (Actual) มีความใกล้เคียงกันมากเพียงใด
ค่าปรับแก้ (Correction) เป็นค่าชุดเชยสำหรับค่าผิดพลาดเชิงระบบ (Systematic Error) โดยค่าปรับแก้มีค่าเท่ากับค่าผิดพลาดเชิงระบบ แต่มีเครื่องหมายตรงกันข้าม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นค่าที่ต้องแก้ไขสำหรับเครื่องมือวัดทีมีค่าปรับแก้กำกับอยู่ (แสดงค่าจากค่าที่วัดได้ (+,-) กับค่าที่ต้องแก้ไข)
ในการใช้งานเครื่องมือวัด ปัญหาที่มักจะพบ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Primary Instrument โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการสั่นสะเทือน อุณหภูมิโดยรอบ ความชื้น และอื่นๆ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับบริเวณโดยรอบ ของการติดตั้งเครื่องมือวัดเป็นหลัก ดังนั้น จึงควรทราบนิยามที่มักจะระบุมาในคู่มือหรือข้อแนะนำในการใช้งานเครื่องมือวัดด้วย (Operating Related Terms) นั้นคือ
Ambient Temperature เป็นการบอกค่าอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการติดตั้งเครื่องมือวัดในการใช้งานจริง โดยทั่วไปก็อยู่ในช่วง 55 ํC เป็นต้น
Drift หรือการลอยเลื่อน เป็นการแปรผันอย่างช้าๆ ตามเวลาของลักษณะทางมาตรวิทยาของเครื่องมือวัดที่มักเป็นการบอกค่าการเปลี่ยนแปลงของเครื่องมือวัดในขณะการใช้งานในช่วงอุณหภูมิต่างๆ เช่น บอกในลักษณะการเปลี่ยนแปลง 0.01 mV/ํC
ในการใช้งานเครื่องมือวัดที่ดีควรจะทราบเกี่ยวกับนิยามต่างๆ ที่เกี่ยวกับแหล่งจ่ายพลังงาน (Energy Related Terms) เนื่องจากความจำเป็นของเครื่องมือวัดจะต้องใช้แหล่งจ่ายลมหรือแหล่งจ่ายไฟฟ้าเพื่อเป็นแหล่งจ่ายพลักงานให้แก่เครื่องมือวัด เช่น ถ้าเป็นระบบลม ลมที่จ่ายให้กับเครื่องมือวัดจะเป็น 20 psig และ Air Comsumtion อาจบอกเป็นหน่วย 0.5 Nm3/h โดยคิดที่ช่วงเครื่องมือวัดทำงานอยู่ในช่วงคงตัว (Steady State) และในส่วนแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่้องมือวัดที่เป็นระบบไฟฟ้าจะแสดงค่า Power Consumption ในลักษณะนี้เช่น Power Consumption เท่ากับ 15 VA ที่แหล่งจ่ายไฟฟ้าขนาด 24 Vdc ซึ่งตรงส่วนนี้จะสามารถนำไปคำนวณเลือกฟิวส์ เพื่อป้องกันอันตรายต่อเครื่องมือวัดและรวมไปถึงการเลือกขนาดสายไฟฟ้าที่เหมาะสมตามความต้องการอีกด้วย