อ่านแบบ P&ID อย่างเข้าใจ ก่อนจะไปเริ่มทำงานในอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรมประกอบไปด้วยอุปกรณ์และ เครื่องจักรมากมายมาประกอบรวมกันจนเกิดเป็นกระบวนการผลิตต่างๆ ซึ่งการจะเขียนแบบจำลองกระบวนการ จำเป็นที่ จะต้องใช้แบบ P&ID ในการอธิบาย ซึ่งจะมีรายละเอียดของ อุปกรณ์ครบตามหน้างานจริง
ยิ่งหากเรากำลังเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมแต่ว่าเรา ยังไม่มีพื้นฐานในการอ่านแบบ P&ID อาจจะทำให้เราเรียนรู้หรือเข้าใจกระบวนการได้ยากกว่า และสัญลักษณ์ที่นำมเขียนมีหลากหลายรูปแบบหลากหลายหมวดของอุปกรณ์ ทำให้ใช้เวลาในการเรียนรู้พอสมควร
อย่างตัวผมเองพอเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ก็เรียกได้ว่าเริ่มต้นใหม่เลยก็ได้ ใช้หลักการของครูพักลักจำจากพี่ๆ เดินเปิดแบบ P&ID อ้างอิงจากเครื่องจักรหน้างานจริง เรียนรู้ไปทีละสัญลักษณ์ทีละกระบวนการ ทำให้ใช้เวลาในการเรียนรู้เนี่ยพอสมควรเลย
หลังจากเรียนรู้จนสามารถอ่านแบบ P&ID ในโรงงานได้ ทำให้ผมทราบว่าการเข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆที่อยู่ในแบบ P&ID รวมถึงที่มาและความสำคัญของการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องจักร ทำให้เราสามารถอ่านแบบ P&ID ได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ใครกันบ้างที่ต้องใช้แบบ P&ID ในการทำงาน
แบบ P&ID คือแบบจำลองกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสหกรรมที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติ งานทุกคนเข้าใจกระบวนการเดียวกัน ทั้งการประสานงาน การดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักร การควบคุมเครื่องจักรในฝ่ายการผลิต ล้วนแล้วต้องใช้แบบ P&ID มาอ้างอิงในการทำงาน มาดูกันว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับแบบ P&ID มีฝ่ายไหนกันบ้าง
- เริ่มตั้งแต่ฝ่ายออกแบบกระบวนการผลิต ทำการออกแบบและคำนวณค่าตัวแปรทางกระบวนการ อาจจะเริ่มออกแบบจากแบบ PFD (Process Flow Diagram) ที่เข้าใจง่าย เนื่องจากในแบบ PFD นั้นจะมีแสดงเฉพาะอุปกรณ์สำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการเท่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นจะทำการออกแบบ P&ID ซึ่งจะมีความแตกต่างตรงที่แบบ P&ID นั้นจะแสดงสัญลักษณ์ของอุปกรณ์หรือเครื่องจักรอย่างครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องมีการติดตั้งจริงในโรงงาน
- ฝ่ายติดตั้งเครื่องจักร ทำการนำเครื่องจักรอุปกรณ์มาติดตั้ง โดยอ้างอิงทั้งแบบติดตั้งซึ่งจะลงรายละเอียดของการติดตั้งอย่างชัดเจน และแบบ P&ID เพื่อให้เห็นภาพรวมของกระบวนการ รวมถึงการทดสอบการเดินเครื่องจักร ก็จะใช้เอกสาร P&ID ประกอบในการทำงานเช่นเดียวกัน
- ฝ่ายโรงงานการผลิต โดยผู้ใช้งานก็จะเป็นตั้งแต่ฝ่ายเดินเครื่องควบคุมเครื่องจักร ฝ่ายซ่อมบำรุงเครื่องจักร ก็ล้วนแล้วต้องใช้แบบ P&ID ในการทำงานเช่นเดียวกัน เพื่อให้ทราบตำแหน่ง และลำดับของอุปกรณ์ที่อยู่ในกระบวนการ รวมถึงทำความเข้าใจทิศทางการไหลของของไหลที่ลำเลียงไปยังกระบวนการต่างๆ ด้วย
- ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องจักร ตั้งแต่วิศวกรวางแผนการบำรุงรักษา ไปจนถึงช่างซ่อมบำรุง จำเป็นที่จะต้องเข้าใจในแบบ P&ID ในโรงงานของตนเองเพื่อที่จะเข้าใจกระบวนการ เข้าใจถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะลดความผิดพลาดในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรด้วย