Contents
ทำความรู้จัก วิศวกรรมการวัดคุม
หากพูดถึงการเรียนต่อปริญญาตรีในสายวิศวกรรมของน้องๆ ระดับมัธยมปลายหรือระดับปวส. สาขาที่อยู่ในใจของใครหลายคนก็คงไม่พ้นสาขาหลักๆ ของศาสตร์ทางวิศวกรรม แต่มีอยู่หนึ่งสาขาที่มักถูกลืม หรือไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเท่าไหร่ นั้นก็คือ วิศวกรรมการวัดคุม นั้นก็เพราะว่าน้องๆที่เลือกเรียนสาขานี้หากรู้จักมาก่อน ก็เกิดจากการบอกต่อจากคนที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงาน ถึงเข้าใจและเห็นความสำคัญของวิศวกรรมการวัดคุม ส่วนน้องๆ ที่ไม่รู้จักเลย ก็เลือกเพราะคะแนนการสอบเข้าหรือการคัดเลือกนั้นไม่สูงมากนัก บ่งบอกได้ว่า เป็นสาขาที่แทบจะไม่ได้รับความนิยมก็ว่าได้
แม้แต่ตัวผมเอง ก็เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมการวัดคุม ก็เพียงเพราะไม่สามารถเข้าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้เนื่องจากคะแนนไม่ถึง จึงเลือกหาสาขาที่เหมาะสมกับเราจนมาเจอ เลือกเข้ามาเรียนโดยที่ไม่ได้รู้จักมาก่อน ผ่านการศึกษาข้อมูลจากรายละเอียดของหลักสูตรแล้วพบว่า มีวิชาที่น่าสนใจและตรงกับความต้องการของตัวเองในตอนนั้น
วิศวกรรมการวัดคุม
วิศวกรรมการวัดคุม (Instrument Engineering) คือศาสตร์ทางวิศวกรรมที่ผลิตวิศวกรให้มีความเชี่ยวชาญอยู่ 2 เรื่องหลักๆ นั้นคือ เครื่องมือวัด และ ระบบควบคุม ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมกระบวนการผลิตเป็นไปทางถูกต้องและสมบูรณ์ อย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า “ระบบอัตโนมัติ” และมีการเรียนรู้จากองค์ความรู้หลากหลายวิชาเพิ่มเติมเสริมตั้งแต่ ระบบพื้นฐานทางไฟฟ้า ระบบนิวเมติก ระบบแมคคาทรอนิกส์ และหลักการของเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม ในส่วนของระบบควบคุมนั้นก็มีการเรียนวิชาเกี่ยวกับ หลักการระบบควบคุมทางกระบวนการ อุปกรณ์ควบคุม (Controller) เช่น Microprocessor, Microcontroller หรือ Programmable Logic Controll (PLC) โดยที่จุดมุ่งหมายสูงสุดของวิศวกรการวัดคุมก็คือการควบคุมพารามิเตอร์ของระบบให้มีเสถียรภาพ
วิศวกรรมการวัดคุมเกิดขึ้นมากว่า 40 ปี
ประวัติวิศวกรรมการวัดคุมในประเทศไทย ในอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงงาน โรงไฟฟ้า โรงปิโตรเคมี ล้วนแล้วต้องใช้ความรู้ในด้านอินสตรูเมนเตชั่น ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังขาดแคลนความรู้ในด้านนี้เป็นอย่างมาก ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีแนวคิดที่จะเปิดภาควิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับทางด้านอุตสาหกรรม จึงดำเนินการจัดทำหลักสูตรขึ้นในปี พ.ศ. 2520 เป็นหลักสูตร อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อสบ.) ขึ้น เพื่อรองรับนักศึกษาที่จบ ปวส. (อนุปริญญา) เข้าศึกษาต่อ ซึ่งจัดตั้งโดย รศ. ประกิจ ตังติสานนท์ ในสมัยนั้นเรียกว่า ภาคเทคโนโลยีการวัดคุมทางอุตสาหกรรม ซึ่งเปิดสอนเฉพาะภาคค่ำ รศ. ประกิจ ตังติสานนท์ มอบหมายงานให้กับ รศ.กิตติ ตรีเศรษฐ์ เป็นผู้ดูแล ต่อมาได้รับอนุมัติเป็นภาควิชา และได้มีโครงการของ UNDP (United Nation Development Program) ซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ทางด้านเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ และฝึกอบรม อาจารย์ให้มีประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งในขณะนั้น รศ.ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ เป็นอธิการบดีและ รศ.กิตติ ตรีเศรษฐ์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนเจรจาที่จะรับโครงการนี้ ช่วงดังกล่าว มีหลายสถาบันที่จะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่ง UNDP ได้สำรวจความพร้อมในด้านบุคคลากร และด้านอื่น ๆ จนเห็นสมควรสนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และในปี พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนชื่อภาคเป็น ภาควิชาวิศวกรรมการวัดคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จนถึงปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนในประเทศไทย
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
- สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา
หลักสูตรวิชาที่สอนในวิศวกรรมการวัดคุม
วิศวกรรมการวัดคุมจะมีการนำหลากหลายศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เนื้อหาที่เรียนในมหาลัยอาจจะเป็นเพียงพื้นฐานในการใช้งานจริงในอนาคตวิชาที่เรียนก็จะเรียนวิชาเช่น เนื้อหาส่วนใหญ่จะเรียนเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องมือวัดและการควบคุม วิชาที่เรียน เช่น
- วงจรไฟฟ้า
- ระบบควบคุม
- วาล์วควบคุมและตัวขับเคลื่อน (Control Valve)
- อุณหพลศาสตร์
- กลศาสตร์ของไหลและเทอร์โมไดนามิกส์
- เครื่องมือวัดและหลักการวัดคุมทางอุตสาหกรรม
- ระบบควบคุมแบบลำดับที่โปรแกรมได้
- พีแอลซี (PLC)
- มาตรวิทยาและการสอบเทียบ
โอกาสในการหางานวิศวกรรมการวัดคุม
- Sale Engineer วิศวกรฝ่ายขาย ที่ช่วยให้ข้อมูลเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางด้านเครื่องมือวัดและระบบควบคุมให้กับลูกค้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาหรือปรับปรุงระบบที่อยู่ในกระบวนการผลิตของโรงงาน
- Project Engineer วิศวกรโครงการ มีหน้าที่ควบคุมดูแลกระบวนการทำงานให้ที่หน่วยงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้โครงการเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด
- Automation Engineer วิศกรอัตโนมัติ มีหน้าที่ในการเขียนโปรแกรม หรือออกแบบระบบควบคุมในกระบวนการผลิตให้สามารถทำงานอย่างอัตโนมัติได้อย่างสมบูรณ์ เช่นระบบ PLC , DCS
- Service Engineer วิศวกรที่ช่วยตรวจสอบและแก้ไขปัญหา หรือติดตั้งระบบเครื่องมือวัดและควบคุม เพื่อให้ระบบการผลิตสามารถเดินระบบได้อย่างต่อเนื่อง
- Calibration Engineer วิศวกรที่ดูแลเกี่ยวกับระบบการสอบเทียบ ทั้งการวางแผนการสอบเทียบ วิธีการสอบเทียบ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละโรงงาน
โดยรายได้เริ่มต้นเฉลี่ยจากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี คือ 22,000 – 25,000 บาท
ซึ่งแต่ละตำแหน่งที่กล่าวมา สามารถทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย เพราะล้วนแล้วแต่มีมีความต้องวิศวกรรมการวัดคุมทั้งนั้น อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมเคมี ปูน และเซรามิค อุตสาหกรรมงานด้านอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมโลหะและยานยนต์ โรงงานผลิตกระดาษ แก้วและกระจก และโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจทางด้านเครื่องมือวัดและระบบควบคุมในโรงงาน
สาขาใกล้เคียงวิศวกรรมการวัดคุมที่มีวิชาเรียนคล้ายๆ กันเช่น
- วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์
- วิศวกรรมหุ่นยนต์
- วิศวกรรมระบบควบคุม
- วิศวกรรมระบบอัตโนมัติ
- วิศวกรรมการวัดคุม
- วิศวกรรมเครื่องมือวัดและอิเล็กทรอนิกส์
อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/วิศวกรรมการวัดคุม
https://www.admissionpremium.com/adplanning/fac?id=20150924095449hMRc91h
https://curriculum.kmitl.ac.th/curriculum/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1-%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%99/